อย่าหมดหวัง…เซลล์สมองงอกใหม่ได้

Read Time:4 Minute, 27 Second

แต่ดั้งเดิมเป็นความรู้พื้นฐานของระบบประสาททั่วไป ที่เรียนกันมาแต่อ้อนแต่ออกว่า เมื่อเกิดมาแล้ว เซลล์สมองจะเริ่มตายไปทุกวัน วันละ 20,000 ตัว ที่เหลือต้องทำหน้าที่อย่างเต็มประสิทธิภาพและสร้างเครือข่ายโยงใยซึ่งกันและกัน เพื่อให้มนุษย์ยังคงเป็นมนุษย์ที่มีความเฉลียวฉลาด เรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้ เรียนรู้จากสิ่งผิดพลาด และหาทางแก้ไขไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

ปรากฏการณ์ของเซลล์สมองสามารถมีการงอกงามได้ใหม่ทราบกันมานานแล้ว ตั้งแต่ ค.ศ.1990 โดยที่แต่ก่อนเชื่อกันว่าความสามารถดังกล่าว (Neurogenesis) จะเกิดในเฉพาะอายุที่ยังน้อยๆมากเท่านั้น Dr.Elizabeth Gould (มหาวิทยาลัย Rockefeller) ได้แสดงให้เห็นว่า แม้แต่สมองมนุษย์ที่โตเต็มที่แล้ว ยังมีการงอกใหม่ของเซลล์ได้ โดยเฉพาะในส่วนที่เรียกว่า Hippocampus ในกลีบขมับทางด้านในที่เรียกว่า dentate gyrus ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญของการเรียนรู้ และความจำและ Hippocampus เป็นส่วนที่เสียหายก่อนเพื่อน ในโรคอัลไซเมอร์ หลังจากการค้นพบในครั้งนั้น มีรายงานทยอยตามกันมาในสัตว์ต่างๆ ตั้งแต่หนูจนถึงสัตว์ใหญ่ เช่น Marmoset และในปี ค.ศ.1998 นักวิทยาศาสตร์ทางประสาทและสมองทั้งในสหรัฐฯและสวีเดนก็พบว่าในสมองคนก็มีศักยภาพในการงอกใหม่เช่นกัน (วารสาร Scientific American, 1999)

ในสัตว์ทดลองเช่นหนู การพิสูจน์ว่ามีเซลล์ใหม่เกิดขึ้นจริง สามารถทำได้โดยไม่ซับซ้อนจากการฉีดสาร BrdU (Bromodeoxy uridine) ซึ่งจะเป็นเครื่องหมายสำหรับเซลล์ที่เกิดขึ้นใหม่เท่านั้น โดยที่พบว่าในหนูมีเซลล์สมองใหม่เกิดขึ้นระหว่าง 5,000-10,000 ตัว ทุกวัน แต่สำหรับในคนยังไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด การเกิดใหม่ของเซลล์เหล่านี้ในสัตว์ทดลอง พบว่าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วถ้าไม่ได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสมในช่วงเวลาที่พอเหมาะหลังจากที่เกิดงอกมาใหม่ ก็จะตายไปหมดในเวลาอันรวดเร็ว

ศาสตราจารย์ Tracey J.Shors กับ Elizabeth Gould ซึ่งเป็นคนค้นพบว่าสมองที่โตเต็มที่แล้ว ก็สามารถงอกใหม่ได้ ได้ร่วมกันทำการ ศึกษาต่อเนื่องถึงกระบวนการที่จะรักษาเซลล์ใหม่เหล่านี้ให้คงทนจนเป็นเซลล์ที่ใช้งานต่อไปได้อีก (วารสาร Nature Neuroscience 1999; Nature 2001 European J Neuroscience 2008; Scientific American 2009)

การค้นพบเหล่านี้น่าจะสามารถประยุกต์ใช้กับสมองมนุษย์ได้ไม่มากก็น้อย ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้มีการงอกใหม่ของเซลล์ที่สำคัญ คือ การออกกำลังกาย (ตัวอย่างเช่น หนูถีบจักรขยันขันแข็งมีเซลล์ใหม่เกิดเป็น 2 เท่าของ หนูขี้เกียจ) กินลูกเบอรี่ทั้งหลาย ส่งผลให้มีการงอกใหม่ได้ ในขณะที่แอลกอฮอล์ในปริมาณเกินกำหนด (ชาย 2-3 หญิง 1-2 แก้ว/วัน) และบุหรี่ เป็นตัวขัดขวางการงอกใหม่ของเซลล์

อย่างไรก็ดี ดังที่กล่าวข้างต้นเซลล์ใหม่เหล่านี้ถ้าไม่ถูกกระตุ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม กล่าวคือ ระหว่าง 7-14 วัน หลังเกิด ก็จะตายไปหมดสิ้น การกระตุ้นที่เหมาะสมต้องเป็นกระบวนการที่สมองต้องใช้ความคิด มีการฝึกสมองอย่างจริงจัง จึงจะสามารถเติบโตผสมผสานตัวเข้ากับระบบโยงใยเครือข่ายของระบบประสาทได้ การผลักให้หนูตกน้ำและให้ว่ายไปหาที่เกาะไม่ถือเป็นการฝึกสมองจริงๆ เพราะเท่ากับเป็นการเอาชีวิตรอดตามสัญชาตญาณเท่านั้น จากลักษณะดังกล่าว เมื่อนำมาประยุกต์ในคนจะเข้ากันได้อย่างดิบดีกับการส่งเสริมให้ออกกำลังอย่างต่อเนื่อง อาทิตย์ละ 3-4 ครั้งอย่างสม่ำเสมอ

ในเมืองไทยอาจไม่ต้องเสาะหาลูกบลูเบอรี่ให้ลำบากยากเย็น ทานผักผลไม้บ่อยๆ (ซึ่งหาง่ายทุกฤดูกาล) อย่างน้อย 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน ถั่วทั้งหลายก็น่าจะให้คุณประโยชน์ต่อการสร้างเซลล์ใหม่ได้ (วารสาร JAMA Intern Med 2015) สารสกัดองุ่น Resveratrol (วารสาร Science 2014; Nature 2015) หยุดบุหรี่เด็ดขาด

ทั้งนี้ สมมติว่าเราออกกำลังแล้ว ผักก็กินแล้ว จะทำให้เซลล์ใหม่กลายเป็นเซลล์สมบูรณ์ทำงานได้อย่างไร ข้อเสนอฟิตเนสโปรแกรมทางสมองของหมอ อาทิ เล่นไพ่ที่เล่นอย่างมีชั้นเชิง เล่ห์เหลี่ยม และถ้าจะใช้สมองจริงจัง ขอร้องให้เล่นกินเงินด้วย เพราะการฝึกสมองทำเป็นเล่นๆไม่ได้ ถ้าคุณตำรวจมาก็ชวนเล่นด้วยกัน ถ้าไม่ชอบเล่นไพ่ ต้องลีลาศครับ เน้น…….เต้นบอลรูม ซึ่งเป็นการฝึกสมองทุกส่วน ซ้าย-ขวา-หน้า-หลัง ตื้น-ลึกหนาบาง เพราะหูฟังดนตรี

มีจังหวะ สั่งการไปยังขา แขนและมือ ซึ่งกุมมืออันนุ่มนวลของคู่เต้น มีการเคลื่อนท่าเป็นจังหวะในก้าวย่างที่เท่ากันสม่ำเสมอ หมุนตัวในองศาที่พอเหมาะกับตัวเองและคู่เต้น มีการควบคุมการทรงตัวที่ถูกต้องจากสมองส่วนท้ายทอย ก้านสมองลงมายังไขสันหลังไม่ให้เหยียบเท้าคู่เต้น เสียงส่งผ่านไปยังสมองความจำ และอารมณ์ให้เคลิบเคลิ้มไปตามความไพเราะของดนตรีและเนื้อหา

สายตามองไปยังคู่เต้น…ถ้าอายเขินที่จะหัดเต้นรำเอาตอนโตหรือแก่ก็หัดร้องเพลงที่ไม่ใช่เพลงชาติ เพราะเหล่านี้จำจนขึ้นใจแล้ว ให้ ไปหาเครื่องเล่นคาราโอเกะ โดยตาดูที่เนื้อ ซึ่งจะมีตัววิ่งคอยกำกับให้ร้องถูกจังหวะ และคุมระดับเสียงให้ไม่หลุดเลยออกไปนอกคีย์

ที่ว่ามาเหล่านี้เป็นการสร้างเสริมใหม่ และรักษาให้คงสภาพ หรือมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาจสามารถนำไปใช้กับผู้ป่วย เช่น อัลไซเมอร์ได้ ถึงแม้อัตราสร้างใหม่จะไม่สามารถทดแทนอัตราตายได้ก็ตาม แต่ก็น่าจะช่วยชะลอความเสื่อมได้ และเป็นอะไรที่ไม่ต้องสิ้นเปลืองซื้อหา.

หมอดื้อ

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

Average Rating

5 Star
0%
4 Star
0%
3 Star
0%
2 Star
0%
1 Star
0%

ใส่ความเห็น