เผลอนิดเดียว สมองเสื่อมซะแล้วก่อน 60
หมอดื้อ
ที่ผ่าน ๆ มา มีแต่โชว์กันว่า 40 ก็แล้ว 50 ก็แล้วถึง 60 ก็ยังแจ๋ว
นัยว่า ยังหน้าตาจิ้มลิ้มหนังยังตึงเป๊ะไม่เหี่ยวย่น รูปพรรณอ้วนท้วนสมกับเป็นผู้อยู่ดีกินดี
แต่ทั้งนี้ รูปลักษณ์ดังกล่าว แม้จะตกแต่ง เสริมสวย ผ่าตัดก็ไม่อาจอำพรางความเป็นไปในร่างกายได้ และสิ่งที่เกิดขึ้นจะค่อยๆ ทยอย ส่งผลไปยังสมอง ทั้งนี้ ในเวลาที่ผ่านมาอาจจะคิดกันว่าสภาวะสมองเสื่อม ความจำถดถอย จะเริ่มโผล่หลัง 60 หรือ 65 ปี ตั้งแต่ เริ่มรู้สึกว่าจำอะไรไม่ค่อยจะได้ ทั้งนี้ โดยที่ยังไม่ต้องไปตรวจแบบทดสอบอะไรทั้งสิ้น หรือไปตรวจแบบทดสอบหาต้นทุนสมอง ก็จะเริ่มเห็นว่า ชักจะก้ำกึ่ง เรียกว่าอยู่ในขั้น 0.5 (mild cognitive impairment) และแม้แต่ลงทุนไปทำคอมพิวเตอร์สนามแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ เอ็มอาร์ไอ ก็ปรากฏว่ายังไม่มีความไวที่จะบอกได้ชัดเจนว่ามีสมองเสื่อมเกิดขึ้นหรือยัง ทั้งนี้ จะต้องลงทุนไปทำการตรวจเพ็ทสแกน (PET scan) ซึ่งใช้เวชศาสตร์นิวเคลียร์เข้าช่วย ราคาเจ็ดถึง 80,000 บาทหรือมากกว่า เพื่อจะให้ทราบว่าในขณะนี้มีสมองเสื่อมเกิดขึ้นหรือยัง หรือการเจาะน้ำไขสันหลังเจ็บตัวเพื่อหาโปรตีนพิษบิดเกลียว ที่เป็นสาเหตุของสมองเสื่อม หรือล่าสุดที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์จุฬา ของเราทำอยู่ ขณะนี้ ก็คือ การเจาะเลือดเพื่อดูว่ามีสมองเสื่อมเริ่มปะทุหรือยังและมีความรุนแรงเท่าใด
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อพบแล้วก็ต้องทำการแก้ไขด่วน รวมทั้งใช้ การปรับพฤติกรรม การกินอาหารสุขภาพอย่างเข้มข้น การใช้ชีวิตอย่างเข้มงวด และอาจต้องควบรวมกับการใช้ยา
และนี่คือที่มาว่า ทำไมไม่ป้องกันแต่เนิ่น ๆ คนก็สงสัยว่า “เนิ่น ๆ” อย่างที่ว่าควรจะเริ่มระวังตัวตั้งแต่ตอนไหน และปัจจัยหรือผู้ร้ายอะไรบ้างที่จะเป็นตัวชี้บ่ง ความเสี่ยงการเกิดสมองเสื่อม
ในการศึกษาที่ผ่านมา จะเหมารวมทั้งหมดว่า เมตาบอลิคซินโดม (metabolic syndrome) อันประกอบด้วย กลุ่มปัจจัยทั้งหลาย ตั้งแต่ อ้วนลงพุง มีไขมัน ไตรกรีเซอไรด์สูง มีไขมันดี HDL ต่ำ มีความดันสูงขึ้นและระดับน้ำตาลสูงขึ้น และจะมีโอกาศของการที่จะมีโรคของเส้นเลือดหัวใจและเส้นเลือดสมอง โดยมักจะเหมารวมว่าถ้ามีเป็นคลัสเตอร์ ปัจจัยเสี่ยงสามอย่างหรือมากกว่า จะเพิ่มโอกาสที่จะเกิดสมองเสื่อม บ้าง แต่ปัจจัยเดี่ยว ๆ จะมีความสำคัญที่ทำให้เกิดสมองเสื่อมหรือไม่
การวิเคราะห์อภิมาน (meta analysis) รวมผลการศึกษาระยะยาวหลายชิ้น ไม่พบความสัมพันธ์กันชัดเจนระหว่างปัจจัยทั้งคลัสเตอร์เหล่านี้กับสมองเสื่อม นอกจากสมองเสื่อมที่เกิดจากเส้นเลือดตันพรุนในเนื้อสมองทั้งสองข้าง
ข้อจำกัดของการศึกษาเหล่านี้อยู่ที่ทำการติดตามน้อยกว่า 10 ปีและการหาความสัมพันธ์ของปัจจัยเสี่ยงกลุ่มเมตาบอลิคซินโดรม จะดูที่ตอนอายุมากขึ้นแล้ว แต่อย่างไรก็ดี การศึกษาในระยะถัดมา เริ่มส่อแสดงให้เห็นว่าถ้ามีการติดตามถึง 10 ปี จนกระทั่งถึงมากกว่า 20 ปีจะเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันได้ แต่จำนวนประชากรศึกษายังน้อยไปหรือจำกัดอยู่เฉพาะเพศชาย
จุดเด่นของการศึกษานี้ที่รายงานในวารสาร Diabetes care ปี 2022 อยู่ที่การทอดระยะเวลาของการติดตามไปถึงประมาณ 30 ปีและทำการหาความเชื่อมโยงของปัจจัยแต่ละอย่าง ที่ช่วงอายุต่างๆกัน กับความเสี่ยงที่จะเกิดสมองเสื่อม
คณะผู้วิจัยมาจากหลายสถาบันจากฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์อังกฤษ ฮังการี
ประชากรศึกษาเป็นข้าราชการในลอนดอน ที่มีอายุเริ่มต้นระหว่าง 35 ถึง 55 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ช่วง 1985 ถึง 1988 จำนวน 10,308 ราย จากนั้น ติดตามสอบถามและมีการตรวจร่างกายทุกสี่ถึงห้าปี และมีการประเมินปัจจัยทางเมตาบอลิค ได้แก่ หนึ่ง พุงโตโดยเส้นรอบเอวมากกว่า 102 เซนติเมตรในผู้ชายและมากกว่า 88 เซนติเมตรในผู้หญิง สอง ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ สูงกว่า 150 หรือมีการใช้ยาลดไขมัน สาม ระดับไขมันดีหรือ HDL น้อยกว่า 40 ในผู้ชายและน้อยกว่า 50 ในผู้หญิงหรือต้องใช้ยาลดไขมัน สี่ มีความดันตัวบนสูงกว่า 130 และหรือตัวล่างสูงกว่า 85 หรือต้องใช้ยาลดความดัน ห้า ระดับน้ำตาลตอนเช้า เจาะหลังจากที่อดอาหารมากกว่า 100 หรือมีการใช้ยาลดน้ำตาล
การประเมินปัจจัยเสี่ยงทางเมตาบอลิค ในประชากรศึกษาเหล่านี้ ทำในหกระยะในช่วงระหว่าง 1991 และ 1993 และระหว่าง 2015 และ 2016 โดยจัดแบ่งอายุของประชากรศึกษาเป็นในช่วงอายุน้อยกว่า 60 (ระหว่าง 40 ถึง 59.9) อายุระหว่าง 60 ถึง 69.9 และอายุมากกว่า 70 ปี (70-84)
การเชื่อมโยงกับภาวะสมองเสื่อม โดยการควบรวมข้อมูลเหล่านี้ กับฐานข้อมูลของชาติ ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ทั้งนี้โดยเชื่อว่า ความไวและความแม่นยำในการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมอยู่ที่ 78 และ 92% ตามลำดับ
สำหรับภาวะของโรคทางหัวใจและเส้นเลือดสมอง เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลเช่นกัน ทั้งนี้ โดยประเมินข้อมูลของแต่ละบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับการศึกษา ไลฟ์สไตล์ พฤติกรรมการสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า การกินผักและผลไม้ การออกกำลัง และอื่นๆที่จะเกี่ยวข้องกับ เมตาบอลิคซินโดรมและสมองเสื่อม
ผลการศึกษาพบว่า มีคนสมองเสื่อมเกิดขึ้น 393 ราย เป็น 5.4% และ 497 รายเป็น 7.5% และ 284 รายเป็น 7.9% ในช่วงอายุน้อยกว่า 60 ระหว่าง 60 ถึง 70 และอายุมากกว่า 70 ตามลำดับ
โดยในแต่ละช่วงอายุดังกล่าว มีการติดตาม 20.8 ปีและ 10.4 ปีและในช่วงอายุสุดท้ายที่ 4.2 ปีตามลำดับ
มาดู ปัจจัยเสี่ยงเมตาบอลิค ที่ได้กล่าวไปแล้ว สามารถระบุได้ว่า ปัจจัยเสี่ยง “แต่ละชนิด” ที่มีเพิ่มขึ้น จะเร่งให้เกิดมีสมองเสื่อมมากขึ้นตั้งแต่ในช่วงอายุก่อน 60 ระหว่าง 60 ถึง 70 ปี แต่ไม่สัมพันธ์เมื่ออายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป
ทั้งนี้การวิเคราะห์โดยใช้โมเดลแบบต่างๆ โดยสามารถชี้ชัดได้ว่า ความเสี่ยงของสมองเสื่อมจะเพิ่มขึ้น ตั้งแต่มีปัจจัยเพียงหนึ่งเดียวหรือมากกว่า (HR1.99[95% CI 1.08,3.66]) และ เมื่อมีสองหรือมากกว่า (HR1.69 [95%CI 1.12,2.56]) ในกลุ่มอายุน้อยกว่า 60 ปี และไม่ต้องมีโรคทางหัวใจหรือเส้นเลือดทั้งตลอดระยะเวลาในการติดตามก็ได้
ความหมายของการศึกษานี้ ยืนยันว่า การปฏิบัติตัวที่ดี ที่ต้องเริ่มแต่เนิ่น ๆ นั้น อย่างน้อยคือ ตั้งแต่อายุน้อยกว่า 45 ปี หรืออาจจะตั้งแต่อายุ 30 ต้น ๆ ด้วยซ้ำและความเสี่ยงของการเกิดสมองเสื่อม ไม่จำเป็นที่จะต้องเกิดมีโรคของหัวใจและเส้นเลือดร่วม และการที่มีเพียงหนึ่งปัจจัย พุงโต ไขมันไตรกรีเซอร์ไรด์สูง ที่ได้จากข้าวแป้งน้ำตาลของหวาน ไขมันดี HDL ต่ำ จากการไม่กินอาหารสุขภาพและขาดการออกกำลัง ความดันโลหิตสูงแม้ไม่มากก็ตาม และระดับน้ำตาลที่สูงกว่า 100 ซึ่งดูว่าไม่สูงมากก็ตาม ส่งผลร้ายต่อสมอง เกิดสมองเสื่อมตั้งแต่ก่อน 60 ปี และสะสมไปต่อเนื่องจนพบบ่อยและรุนแรงเมื่ออายุมากขึ้นในบั้นปลายของชีวิต
และตอกย้ำว่าการศึกษาที่ผ่านมา เมื่อดูภาวะสมองเสื่อมที่ช่วงปลายของอายุ พร้อมกับประเมินปัจจัยเมตาบอลิคซินโดรม ในช่วงท้ายเท่านั้น จะไม่มีความละเอียดอ่อนพอ ที่จะชี้ถึงความร้ายกาจ ของการไม่ดูแลตนเองตั้งแต่อายุยังน้อย โดยที่ระยะเวลาความยาวนานที่มีปัจจัยเหล่านี้จะไม่ได้นำมาควบรวมในการประเมินความเสี่ยงด้วย
การที่จะชี้ว่า ผู้ร้ายที่ทำให้สมองไม่ดีนั้น ไม่จำเป็นต้องมีผู้ร้ายครบถ้วนกระบวนความ สามตัวหรือมากกว่าหรือจะต้องมีโรคหัวใจและเส้นเลือดประกบเข้ามาด้วย แม้มีตัวใดตัวหนึ่งก็ส่งผลร้ายต่อสมองได้
ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องดูแลตนเองตั้งแต่วัยเด็กวัยหนุ่มสาวเพื่อสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมองมั่นคง ไม่เป็นภาระต่อครอบครัวสังคมและประเทศ