“ความยากจน” หรือ “คนจน” กลายเป็นประเด็นปัญหาอีกครั้ง นายคุณากร ประชาชนะชัย ส.ส.สุรินทร์ รอง เลขาธิการและทีมเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย เปิดประเด็นว่า รัฐบาลจะลงทะเบียนบัตรคนจนเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน น่าจะเป็นความล้มเหลวในการบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
รัฐบาล คสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ในช่วงแรกเคยสัญญาว่าจะทำให้คนจนหมดสิ้นไปจากประเทศภายในช่วงปี 2559 ถึง 2561 3-4 ปีผ่านไป แทนที่คนจนจะหายไปจากประเทศไทย กลับพุ่งขึ้นอีกกว่า 10 ล้านคน จากที่ธนาคารโลกเคยรายงานไว้เมื่อปี 2563 ระบุว่า มีคนจนเพิ่มขึ้นจาก 3.7 ล้านคน เป็น 5.2 ล้านคน ในปี 2564
ธนาคารโลกให้คำจำกัดความของ “คนจน” ไทย ได้แก่ ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าวันละ 165 บาท หรือเดือนละเกือบ 5,000 บาท แต่เส้นแบ่งความยากจนของรัฐบาลประยุทธ์ปัจจุบัน คือเท่าไหร่กันแน่ ถ้าถือว่าผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็น “คนจน” จะพุ่งขึ้นจากราว 13.4 ล้านคน ของปี 2564 มาเป็น 20 ล้านคน ในปีนี้
ถ้าดูตามตัวเลขจะเห็นได้ชัดว่า รัฐบาลล้มเหลวโดยสิ้นในการแก้ปัญหาความยากจน จากที่เคยสัญญาจะขจัดให้สิ้นซากภายในปี 2561 แต่กลับพุ่งขึ้นเป็น 20 ล้าน รัฐบาลถือว่าผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีคุณสมบัติสำคัญคือ มีรายได้ไม่เกินปีละ 1 แสนบาท หรือ เดือนละประมาณ 8,333 บาท เป็น “คนจน” ทุกคนหรือไม่
ถ้ายึดตามหลักของธนาคารโลก ที่ขีดเส้นแบ่งความยากจน คือคนที่มีรายได้วันละ 165 บาท จะมีผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการนับล้านๆคนที่ไม่ใช่ “คนจน” ตามนิยามของธนาคารโลก และน่าสงสัยว่าเหตุที่รัฐบาลเพิ่มผู้ถือบัตรคนจนมากขึ้นทุกปี มีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองหรือไม่ จะเท่ากับเป็นการซื้อเสียงล่วงหน้าหรือไม่
วิธีการแบบนี้อาจทำให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลายเป็น “คนจนการเมือง” ได้รับเงินแจกจากรัฐทุกเดือน เพื่อปลูกฝังให้ชื่นชมนโยบายพรรคแกนนำรัฐบาล เป็นผู้จงรักภักดีในพรรคถึง 20 ล้านคน เปรียบเทียบกับสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เมื่อปี 2562 มีเพียงไม่ถึง 5 หมื่นคน เป็นการเอาเปรียบพรรคอื่นหรือไม่
การแจกเงินไม่ใช่มาตรการที่ถูกต้องในการขจัดความยากจน วิธีการที่ถูกต้องคือการสร้างงาน สร้างโอกาส สร้างรายได้ ให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มโดยถ้วนหน้า มิฉะนั้นสังคมไทยจะจมอยู่กับความยากจนตลอดกาล และซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ ทั้งด้านรายได้ โอกาสการเข้าถึงบริการสาธารณสุข การศึกษาและอื่นๆ.