
สนใจแล้วใช่มั้ยครับ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องในหนังยากูซ่าตัดนิ้วสังเวย
และ “เธอ” ในที่นี้คือ “สมอง” ที่หมอชอบใช้เรียกว่า “เธอ” เวลากล่าวถึง
ความที่ “เธอ” เมื่ออายุมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้จะรอดพ้นผ่านวิกฤตการณ์ต่างๆนานาตั้งแต่อุบัติเหตุ ถูกตี รอดจากอัมพฤกษ์ เส้นเลือดตัน ก็ยังหนีไม่พ้นโรคที่มากับความเฒ่าชรา
ซึ่งความจริงไม่ต้องชรามาก แค่เข้าใกล้ 60 ก็มากแล้ว เพราะความเสื่อมจากการสะสมสารพิษซึ่งจะรุนแรงมาก และเกิดได้ตั้งแต่อายุยังน้อย
ถ้ามีกรรมพันธุ์ในครอบครัว โรคพวกนี้ คือ สมองเสื่อม เอ๋อ อัลไซเมอร์ รวมทั้งโรคพาร์กินสัน ตัวแข็ง ฝืด เดินช้า การทรงตัวไม่ดี สั่นงันงก ถ้าจะหวังยาทั้งหลายในโลกขณะนี้ ต้องแสดงความเสียใจด้วยครับ

เพราะไม่มียาตัวใดสามารถยับยั้งชะลอโรคได้
ยาพาร์กินสันเพียงบรรเทาให้ดีขึ้น
แต่ใช้ยามากกลับเร่งโรคให้ไปเร็วและดื้อยา ยาแค่บรรเทายังไม่เวิร์ก เช่นเดียวกับยาอัลไซเมอร์ซึ่ง “หมอดื้อ” จะแฉโพยเรื่องราวตามลำดับในอนาคต
ทีนี้หัวแม่เท้ามาเกี่ยวไรด้วย หัวแม่เท้าเป็นสัญลักษณ์ของโรคเกาต์ คนมีกรดยูริก (uric acid) สูงในเลือด มีโอกาสเป็นหัวแม่เท้าอักเสบ (มีข้ออื่นก็ได้ แต่พิสมัยตรงนี้เป็นพิเศษ) ปวดบวมแดง เจ็บเหมือนเข็มแทง ทิ่มแทง

ซึ่งความจริงเป็นผลึกตะกอน ทำให้เกิดปฏิกิริยาอักเสบเดินไม่ไหว ข่าวดีคือ ใครเป็นเกาต์ไม่ต้องกลัว เพราะไม่ตาย ไม่พิการ มิหนำซ้ำยังมีโชคถึงขนาดที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ลดลงถึง 24%
ทั้งนี้ จากรายงานในวารสารโรคข้อ รูมาติก (Annals of Rheumatic Diseases วันที่ 11 มีนาคม 2015) จากการติดตามประชากรที่เป็นโรคเกาต์ 59,224 ราย ระหว่าง 1 มกราคม 1995 ถึง 31 ธันวาคม 2013 เทียบกับคนไม่เป็นเกาต์ 238,805 ราย อายุเฉลี่ย 65 ปี และเป็นผู้ชายมากกว่า 70%
ติดตามแต่ละรายโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5 ปี พบคนที่มีโรคหัวแม่เท้าเกาต์เป็นอัลไซเมอร์ 309 ราย ส่วนคนธรรมดาเป็น 1,952 ราย ทั้งนี้ปรับฐาน เปรียบเทียบอายุ เพศ น้ำหนัก การศึกษา เศรษฐานะ สไตล์ การดำเนินชีวิต มีโรคทางหัวใจ ความดัน เบาหวาน ไขมัน รวมทั้งการใช้ยาต่างๆพอกัน เป็นข่าวดีปรีดิ์เปรมไปทั้งโลก

ความจริง ความดีงามของการที่มีกรดยูริกสูงในเลือด โดยจะมีข้ออักเสบหรือไม่ก็ตาม เริ่มสังเกตกันมาตั้งแต่ปี 1989 (การศึกษา DATATOP วารสาร Achieves of Neurology ปี 1989 ; การศึกษา PRECEPT วารสาร Neurology ปี 2007) โดยคนที่มีระดับยูริกในเลือดประมาณ 6-8 มก.% จะมีโรคพาร์กินสันลดลงและแม้เป็นไปแล้วโรคก็ไปช้ากว่า และอาจอธิบายได้จากกระบวนการเมตาบอลิซึ่มของสารพิวรีน (purine) จะได้ตัวอิโนซีน (inosine) และยูริก
ซึ่งตัวอิโนซีนจะทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมโยงเซลล์สมองกับการป้อนพลังงานให้สมอง
ขณะนี้มีการศึกษาแล้วเพื่อเพิ่มกรดยูริกในเลือดโดยการให้ตัวอิโนซีน พบว่าสามารถให้ด้วยความปลอดภัย (การศึกษา SURE-PD วารสาร JAMA Neurology 2014)
ถึงตอนนี้หน้าบานกันได้แล้วครับ ตรงกันแล้วที่พบว่าการกินถั่วโดยเฉพาะถั่วที่มีเปลือก วอลนัท เชสนัท มะม่วงหิมพานต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาหารสุขภาพ กินด้วยกันกับผลไม้ กากใย ผักเขียว รวมทั้งพริกหยวก พริกหวาน ตัวอิโนซีน ที่ทำให้กรดยูริกสูง

และของมหัศจรรย์สารพัดสารพันในผัก ผลไม้นั้นจะช่วยให้สมองกระชุ่มกระชวยอยู่จนแก่เฒ่า และอายุยืนจริงแท้แน่นอน เพราะฉะนั้นเวลาไปเจาะเลือดตรวจ เจอกรดยูริกสูงนิดสูงหน่อยถูกสั่งห้ามไม่ให้กินถั่ว ไม่ให้กินน้ำพลังงาน (ซึ่งเหล้า ไวน์ เบียร์ ในปริมาณเหมาะสม ก็ช่วยชีวิตนะครับ)
ก็ให้บอกคุณหมอนะครับว่าถั่วกินแกล้มเบียร์ และอื่นๆ (ในปริมาณคุณผู้ชาย 2-3 แก้ว คุณผู้หญิง 1-2 แก้ว) อร่อยดี
และเพื่อสุขภาพ ยกเว้นถ้าสูงมากเกิน จนหัวแม่เท้าอักเสบรุนแรง มีผลึกสะสมตามข้อ (tophi) หรือจะเป็นนิ่วในท่อไต ก็ต้องคุมอาหารหน่อย ร่วมกับกินยาลดกรดยูริกแต่ไม่ต้องลดจนหดหายไปหมด อ้าง “หมอดื้อ” ได้เลยครับ.
Average Rating